หูด

Written by Super User on . Posted in health


เป็นโรคติดเชื้อไวรัสทางผิวหนังที่พบได้ในทุกเพศ ทุกวัย มักพบในเด็กและวัยรุ่น โดยจะโตช้าๆ และอยู่นานโดยไม่มีอาการ   หูดมีหลายขนาดและหลายลักษณะ เกิดได้ตามผิวหนังทุกส่วนของร่างกาย บริเวณที่พบบ่อยคือ มือและเท้า   ประชากรไทยประมาณ 20 – 40 % ได้รับเชื้อไวรัสหูดแต่ไม่แสดงอาการ

มีสาเหตุจากอะไร

เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งซึ่งมีหลายสายพันธุ์ เชื้อไวรัสหูดจะกระตุ้นให้เซลล์หนังกำพร้าเกิดการหนาตัวหรือแข็งตัว    ระยะฟักตัวนาน 1-6 เดือน

ติดต่อกันอย่างไร

โดยการสัมผัสทางผิวหนังและทางเพศสัมพันธุ์แล้วแต่ชนิดของหูด เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังที่ถลอกเปื่อยยุ่ย มีรอยขีดข่วน มีแผลหรือถูกกดทับ การสัมผัสกับผิวหนังที่เป็นหูดหรือการหยิบจับของที่มีเชื้อไวรัสปนเปื้อนอยู่ หูดสามารถติดต่อจากส่วนหนึ่งของร่างกายไปยังอีกส่วนหนึ่งได้    การแกะเกาจะทำให้หูดแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย

มีอาการอย่างไร

มักไม่ค่อยมีอาการ ส่วนใหญ่ที่เจ็บมากคือ หูดที่ฝ่าเท้าเพราะเมื่อเดินจะกดทับโดยตรงทำให้เจ็บ

ลักษณะเป็นอย่างไร

ลักษณะของรอยโรคขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของไวรัสหูดและบริเวณที่เป็น  เช่น หูดที่มือหรือเท้า   จะมีลักษณะเป็นเม็ดนูนแข็ง ผิวอาจเรียบหรือขรุขระ   มีเม็ดเดียวหรือหลายเม็ด กล่าวโดยรวม หูดมีรูปร่างลักษณะหลายแบบ แบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่ม

1. หูดธรรมดา เป็นตุ่มนูนแข็งสีผิวหนังหรือสีดำ ผิวค่อนข้างขรุขระ มีสะเก็ด อาจมีเม็ดเดียวหรือหลายเม็ดก็ได้

2. หูดผิวเรียบ  เป็นตุ่มแบนสีผิวหนัง  ผิวเรียบ   มีสะเก็ดเล็กน้อย

3. หูดฝ่าเท้า เป็นไตหนาแข็ง สีค่อนข้างเหลือง

4. หูดที่อวัยวะเพศ เป็นตุ่มนูนสูงคล้ายหงอนไก่ พบบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนักและขาหนีบ

5. หูดที่เป็นติ่งเนื้อแข็งๆ ยื่นมาจากผิวหนัง เป็นตุ่มขรุขระแต่ยาวคล้ายนิ้วมือเล็กๆ มักพบบริเวณใบหน้าและลำคอ

การรักษา

หลักการรักษาคือการทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัส ซึ่งมีหลายวิธี ได้แก่ การทายา การจี้ด้วยความเย็น การจี้ด้วยความร้อน และการผ่าตัด

วิธีรักษา

1. การทายา ยาที่นิยมใช้ได้แก่ยาที่มีส่วนผสมของกรดซาลิซิลิก กรดแลคติก กรดไตรคลออะซิติก หรือไบคลออะซิติก ซึ่งได้ผลดี แต่ใช้เวลานานหลายสัปดาห์กว่าจะหาย ผู้ป่วยสามารถทาเองได้ที่บ้าน

2. การจี้ด้วยไนโตรเจนเหลว เป็นการรักษาด้วยความเย็นซึ่งใช้ได้ผลดีในหูดขนาดไม่ใหญ่มาก  หากมีแผ่นหนาปกคลุมแพทย์จะฝานออกก่อนจี้  แพทย์อาจใช้ไม้พันสำลีจุ่มไนโตรเจนเหลวแล้วจี้ที่ตัวหูด หรือใช้หัวจี้ซึ่งต่อกับภาชนะที่บรรจุไนโตรเจนเหลวจี้ ระหว่างจี้ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บ วันต่อมาจะพองเป็นตุ่มน้ำ และใหญ่ขึ้นเป็นถุงน้ำ หรืออาจมีเลือดออกอยู่ข้างใน  หลังจากนั้นจะค่อยๆ แห้งลงแล้วตกสะเก็ด และจะหายในเวลา 1-3 สัปดาห์ ซึ่งอาจต้องจี้ซ้ำอีกหลายครั้งกว่าจะหายขาด ส่วนใหญ่แพทย์มักให้ยาทาควบคู่ไปด้วย

3. การจี้ด้วยไฟฟ้า เป็นการรักษาด้วยความร้อน

4. การรักษาด้วยเลเซอร์ เป็นการรักษาด้วยความร้อนโดยแพทย์จะใช้เลเซอร์จี้ที่ตัวหูด ซึ่งได้ผลดีแต่ค่าใช้จ่ายสูง

5. การผ่าตัดเอาก้อนหูดออกซึ่งไม่นิยมใช้

หูดอาจหายเองได้แต่ส่วนใหญ่ใช้เวลาหลายเดือนหรือเป็นปี ผู้ป่วยจึงควรรักษาความสะอาดเพื่อมิให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายและแพร่กระจายไปสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกายและสู่ผู้อื่น การล้างมือจะช่วยลดการรับเชื้อและการแพร่กระจายเชื้อได้ดี แต่หากผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต่ำจะติดเชื้อและลุกลามได้ง่าย เป็นแล้วหายยาก จึงควรรีบรักษาแต่เนิ่นๆ และหมั่นรักษาความสะอาดเพราะถึงแม้หูดจะสามารถหายได้แต่ก็อาจติดเชื้อใหม่ได้อีก